![]() |
การจัดการสวนยางในช่วงหน้าแล้ง ย่างเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งต้นยางจะผลัดใบ เพื่อมีเวลาหยุดพักและสะสมอาหาร ซึ่งช่วงระยะการผลัดใบจะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นและสายพันธุ์ โดยทั่วไประยะผลัดใบตั้งแต่ใบเริ่มร่วงจนถึงใบแก่ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ช่วงนี้เกษตรกรจึงไม่ควรกรีดยาง เพื่อให้ต้นยางเจริญเติบโตเป็นต้นยางที่สมบูรณ์และกรีดไปได้นานๆ แต่สิ่งที่เกษตรกรควรระมัดระวังในช่วงนี้คือ “ไฟไหม้สวนยาง” เนื่องจากอากาศแห้ง ประกอบกับมีใบยางร่วงหล่นในสวนยางซึ่งเป็นเชื้อไฟได้อย่างดี จึงไม่ควรทิ้งก้นบุหรี่ ไม่ก่อกองไฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวนยางที่อยู่ริมถนนใหญ่ มีรถวิ่งผ่านไปมา จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ได้ง่าย เพียงก้นบุหรี่ที่ทิ้งจากรถหรือจากผู้คนที่เดินผ่าน ขณะเดียวกันเกษตรกรยังต้องเอาใจใส่ดูแลต้นยางเพื่อให้รอดตายและเจริญเติบโตผ่านช่วงฤดูแล้งไปได้อย่างเป็นปกติ โดยเฉพาะในยางอ่อนหรือยางที่ปลูกใหม่ในภาคอีสานและภาคเหนือ ที่ต้องเผชิญกับสภาวะอากาศที่แห้งแล้งอย่างรุนแรง เนื่องจากระบบรากยังไม่สมบูรณ์และลึกพอที่จะดูดน้ำระดับลึกได้ อาจทำให้การเจริญเติบโตชะงักและแห้งตายได้ เกษตรกรจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร สถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย แนะนำว่า ในช่วงฤดูแล้งต้นยางที่ปลูกใหม่จนกระทั่งอายุ 3 ปี เกษตรกรควรเอาใจใส่ดูแลด้วยการหาวัสดุคลุมโคนต้น ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติที่จำเป็นก่อนเข้าฤดูแล้ง ในขณะที่ดินยังมีความชุ่มชื้นอยู่ การคลุมโคนต้นยางจะช่วยเก็บรักษาความชื้นในดิน ช่วยให้อัตราการรอดตายของต้นยางสูงขึ้น |
|
วัสดุที่ใช้ควรเป็นวัสดุที่เกษตรกรหาได้ง่ายและมีอยู่ในท้องถิ่น เช่น หญ้าคา ฟางข้าว ใบกล้วย หญ้าขน ต้นถั่วชนิดต่างๆ ซากพืชคุม ซากวัชพืช และซากพืชชนิดอื่นๆ แทบทุกชนิด ตามแต่ที่จะหาได้ ซากพืชเหล่านี้นอกจากช่วยรักษาความชื้นของดินแล้ว เมื่อถึงเวลาเน่าเปื่อยจะช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินช่วยปรับปรุงโครงสร้างและความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน เป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตของต้นยางต่อไป สำหรับช่วงเวลาเหมาะสมที่เกษตรกรควรคลุมโคนต้นยางนั้น แนะนำว่าควรคลุมก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง ประมาณ 1 เดือน เป็นช่วงที่ดินยังมีความชุ่มชื้นอยู่โดยใช้วัสดุคลุมดินบริเวณโคนต้นยางเป็นวงกลมให้ห่างจากโคนต้น 1 ฝ่ามือ รัศมีคลุมพื้นที่ 1 เมตร หนาประมาณ 10 เซนติเมตร ระวังอย่างให้วัสดุคลุมชิดโคนต้นมากเกินไป เพราะจะมีการสะสมความร้อนในวัสดุคลุมทำให้ลำต้นยางเสียหายเกิดอาการไหม้และแห้งเป็นรอยแผล และยังอาจเป็นแหล่งอาศัยของหนูและสัตว์ชนิดอื่นที่ทำลายต้นยางได้ถ้าสามารถหาวัสดุคลุมได้ปริมาณมาก เกษตรกรควรนำมาคลุมตลอดแนวแถวยาง ห่างจากแนวโคนต้นออกไปข้างละ 1 เมตร วิธีนี้จะช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินได้ดีและยังช่วยป้องกันวัชพืชขึ้นในระหว่างแถวยางได้ดีอีกด้วย นอกจากนี้ในยางอ่อนที่มีอายุ 1-2 ปีที่ปลูกในเขตแห้งแล้งมักเกิดอาการลำต้นไหม้จากแสงแดด โดยปรากฏรอยไหม้ เนื่องจากบริเวณนั้นได้รับแสงแดดเป็นเวลานานติดต่อกันจนเนื้อเยื่อเสียหาย ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้เพราะฉะนั้นก่อนเข้าช่วงแล้งแนะนำให้เกษตรกรใช้ปูนขาวหรือปูนที่ใช้ปรับสภาพดิน 1 ส่วนผสมน้ำ 2 ส่วน หมักแช่ค้างคืนไว้ แล้วนำมาทาโคนต้น ส่วนที่เป็นสีน้ำตาลขึ้นมาจนถึงส่วนที่เป็นสีน้ำตาลปนเขียวเพื่อป้องกันความรุนแรงของแสงแดด ขณะเดียวกัน ก่อนเข้าฤดูแล้งแนะนำให้เกษตรกรกำจัดวัชพืชบริเวณแถวยางและระหว่างแถวยางด้วย โดยทำแนวกันไฟด้วยการกำจัดวัชพืชรอบๆ สวนเป็นแนวกว้างไม่ต่ำกว่า 3 เมตร เก็บเศษวัชพืชออกให้หมด และไม่ควรใช้วิธีพ่นยาเพื่อกำจัดวัชพืช เพราะวัชพืชที่แห้งตายจะเป็นเชื้อไฟได้อย่างดีระมัดระวังไม่ทิ้งก้นบุหรี่ หรือก่อกองไฟบริเวณสวนยาง หมั่นตรวจตราดูแลสวนยางอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวนยางที่อยู่ริมถนนใหญ่ กรณีที่ต้นยางถูกไฟไหม้เล็กน้อย ให้ใช้ปูนขาวละลายน้ำ ในอัตราส่วนเท่าๆ กัน ทิ้งค้างคืนไว้ แล้วนำมาทาลำต้นทันที เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดด โรคแมลงที่อาจเข้าทำลายได้ แต่หากต้นยางได้รับความเสียหายมากจนไม่อาจรักษาได้เกินกว่าร้อยละ 40 ของทั้งสวน แนะนำว่าควรโค่นทิ้งแล้วปลูกใหม่ ที่มา : สถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย ทำอย่างไรเมื่อต้นยางถูกไฟไหม้ กรณีต้นยางที่ถูกไฟไหม้ไม่รุนแรง หรือต้นยางเล็กอายุระหว่าง 1-3 ปี เกษตรกรควรดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากในต้นยางอ่อนที่ได้รับแดดแรงติดต่อกันเป็นเวลานาน จะส่งผลให้เซลล์เนื้อเยื่อส่วนที่รับแสงแดด ไหม้เสียหาย และเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ แนะนำให้เกษตรกรใช้ปูนขาวผสมน้ำอัตรา 1:2 ทิ้งไว้ค้างคืน แล้วทาลำต้น เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดด ป้องกันต้นยางสูญเสียน้ำ ที่สำคัญ ป้องกันโรคและแมลงที่อาจเข้าทำลายได้ในเวลาต่อมา ในกรณีต้นยางที่ถูกไฟไหม้ไม่รุนแรง หากต้นยางถูกไฟไหม้แล้วถ้าเปลือกต้นยางบริเวณที่ถูกไฟไหม้ แสดงอาการแตกออกมา ให้ใช้มีดคมๆ ปาดเอาส่วนที่เสียหายออก แล้วทายาป้องกันเชื้อรา และสารเคมี รักษาเนื้อไม้ทาซ้ำอีกครั้ง จะทำให้รอยแผลหายสนิทได้เร็วขึ้น หากต้นยางในสวนได้รับความเสียหาย เป็นจำนวนมาก จนไม่อาจรักษาหน้ายางได้เกิน 40% ของทั้งสวน ควรทำการปลูกใหม่ ซึ่งเกษตรกร สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือปรึกษาได้ที่ การยางแห่งประเทศไทยในพื้นที่ที่ท่านสะดวก ที่มา : https://www.yangpalm.com/2016/12/blog-post_25.html |
ช่องทางการติดต่อ Tel. : 098-014 3881, 098-010 4288, เเละ 089-466 2610 Line : เอพีเครับซื้อไม้ยาง (คลิก) Facebook : เอพีเครับซื้อไม้ยาง (คลิก) Website : www.apkgroup.co.th (คลิก) |